Post by ❀ Senjumaru ❀ on Nov 19, 2016 16:44:30 GMT
TIPS : ขั้นตอนการเขียนนิยายเบื้องต้น เพื่อให้ประสบความสำเร็จ
1. การคิด Theme ของเรื่อง
เป็นการเลือกว่าเราจะเขียนนิยายแนวไหน หัวข้อในการคิด Theme ของเรื่องไม่ค่อยเป็นปัญหาในการเขียนเสียเท่าใดนัก
เพราะผู้ที่อยากเขียนนิยายส่วนมากย่อมมีแนวที่ตนเองชอบอยู่แล้ว แต่ต้องตัดสินใจดีๆ ว่าเราอยากเขียนนิยายแนวนี้จริงหรือไม่
หากเป็นเพียงการสนใจเพียงผิวเผิน เมื่อหมดความสนใจขึ้นมา ก็จะขาดแรงบันดาลใจในการเขียน ผลงานจะออกมาไม่ดี
และซ้ำร้ายหากยังเขียนไม่จบ อาจจะนำไปสู่ปัญหาการดองเค็ม และหยุดการเขียนไปเสียเฉยๆ
2. การคิด Plot หลักของเรื่อง
เป็นเรื่องที่แทบจะสำคัญที่สุดในการเขียนนิยาย เนื่องจากผู้เขียนบางคนเพียงแค่ชื่นชอบเนื้อเรื่องบางแนว และอยากมีเนื้อเรื่องตามที่ตนคิด
จึงเริ่มลงมือเขียนโดยปราศจากการตีกรอบของเนื้อเรื่อง ทำให้เนื้อเรื่องยาวเหยียดจนยืดเยื้อ บางเรื่องก็เขียนจนออกทะเลไม่จบไม่สิ้น
ดังนั้น การเริ่มเขียนนิยายของผู้เขียนมือใหม่ เมื่อได้ Theme ของเรื่องแล้ว ควรวาง Plot หรือโครงเรื่องอันเป็นหัวใจของเรื่อง
โดยการเริ่มจาก การคิดเหตุการณ์หลักของเรื่อง หรือ หัวใจของเรื่องว่าเป็นเช่นไร ควรมีอะไรบ้างเป็นเหตุการณ์สำคัญๆ
และแบ่งเนื้อเรื่องไว้เป็น Event ให้ชัดเจนซึ่งแต่ละ Event นั้นจะต้องนำไปสู่จุดจบของเรื่อง ที่สำคัญคือ การประเมินศักยภาพของตนเอง
ควรเริ่มต้นด้วยการเขียนแบบสั้นๆ วาง Event ไม่มาก ประมาณ 5 - 7 ตอนแล้วจบเรื่อง เพราะเรื่องที่มี Event น้อย จะเขียนได้ง่ายกว่า
หลังจากที่มีความชำนาญ รู้ลิมิตในการเขียนของตัวเองแล้ว จึงค่อยขยายความยิ่งใหญ่ของ Plot ไปเป็น 12 - 20 ตอนก็ไม่สาย
3. การจัด Event ต่างๆ ในแต่ละตอน
เป็นการนำ Event หรือเหตุการณ์สำคัญๆ ของเรื่อง มาจัดเรียงเอาไว้เป็นตอนๆ อย่างเหมาะสม และให้คำนวนเผื่อใส่เหตุการณ์เพิ่ม
ไม่ควรอัดเนื้อหาในแต่ละตอนเยอะจนเกินไป และไม่ควรเผื่อเนื้อหาในแต่ละตอนมากจนเกินไป เพราะจะทำให้เรื่องยืด
ควรวางแผนให้แต่ละตอนมีจุดที่เป็นเอกลักษณ์ หรือจุดที่น่าสนใจสำคัญๆ เพราะแม้เนื้อหาเยอะ แต่ตอนนั้นไม่มีจุดที่ทำให้สนใจเลย
เนื้อเรื่องในตอนนั้นจะน่าเบื่อ จัดเรียงลำดับเหตุการณ์สำหรับผูกปมของเรื่องให้สมเหตุสมผล ไม่ควรมีปมมากจนสับสน
**เทคนิคในการวาง Event : ควรจัด Event ให้เป็น Volume มีหนักมีเบา ไม่ควรวางเนื้อเรื่องเบาๆ เอื่อยๆ ติดๆ กัน
หรือวางเนื้อเรื่องหนักๆ เข้มข้นมากๆ ยัดใส่จนผู้อ่านเกิดอาการเอียน เว้นเสียแต่เป็นเนื้อเรื่องตอนจบที่ทุกอย่างจะถึงบทสรุป
อาจจะใส่ความเข้มข้นเข้าไปมากขึ้นกว่าปกติได้
4. การจัดวางตัวละครเพื่อดำเนินเรื่องตาม Event
ในสำหรับนิยายที่ไม่ได้มีการรับสมัครตัวละครอาจไม่ประสบปัญหานี้เท่าใดนัก แต่สำหรับนิยายแบบรับสมัครตัวละครมักมีปัญหามาก
เป็นการนำตัวละครที่มีมาจัดลงในแต่ละตอนเพื่อดำเนินเรื่องราว ไม่ว่าในส่วนของตัวละครนำ หรือตัวละครประกอบ
สิ่งที่ต้องคำนึงคือ ตัวละครเหล่านั้นเหมาะสมในการดำเนินเนื้อเรื่องส่วนนั้นหรือไม่ เนื้อเรื่องใดควรเป็นของตัวละครหลัก
ซึ่งปัญหาทั่วไปที่พบจึงมักจะมี ดังนี้
- การเลือกตัวละครนำ เป็นปัญหาตั้งแต่เริ่มแรกของการรับสมัครตัวละคร สำหรับผู้เขียนที่ไม่ต้องการใช้ตัวละครของตนเอง
ข้อดีในการใช้ตัวละครที่ผู้อื่นสร้างขึ้นเป็นตัวละครหลักคือ หมดปัญหาเรื่องการเขียนอวยตัวละครของตัวเอง เพราะตัวเอกบทต้องเยอะ
ข้อเสียคือในบางครั้ง ตัวละครที่เพื่อนๆ สมัครเข้ามาไม่ตรงตามคอนเซ็ปที่วางไว้เลย อาจจะเป็นต้องมีการปรับเปลี่ยนในเนื้อเรื่องบ้าง
- การวางบทบาทของตัวเอก ประเด็นนี้เป็นประเด็นสำคัญ เพราะการดำเนินเนื้อเรื่องให้สนุก ต้องทำให้ผู้อ่านรู้สึกอยากรู้และสนใจในตัวเอก
ว่าตัวเอกจะเดินเนื้อเรื่องต่อไปอย่างไร นั่นหมายถึงการเผชิญอุปสรรคในเนื้อเรื่อง หากตัวเอกเก่งจนสามารถผ่านอุปสรรคได้หมด
เนื้อเรื่องก็จะกร่อยไม่น่าตื่นเต้น บางครั้งจะเกิดประเด็นพระเอกสุดเมพขริมๆ จนคนหมั่นไส้บ้าง หรือ พระเอกกระจอกเอามากๆ
และอุปสรรคที่พบ ก็มีเพื่อนๆ คอยช่วยให้ผ่านไปเสียทุกครั้ง มันก็จะไม่เหลือคำว่าพระเอก หรือตัวละครนำ เอาไปวางข้างๆ ฉากดีกว่า
- การวางบทตัวละครสนับสนุนและตัวประกอบ ต้องคิดอยู่เสมอว่า ตัวละครที่เราจัดอยู่ในหมวดนี้ จะเด่นกว่าพระเอกของเราไปไม่ได้
เพราะมันมีหน้าที่ในการอุดช่องว่างของเรื่อง ที่ตัวเอกทำไม่ได้ หรือช่วยเหลือพระเอกในช่วงเนื้อเรื่องที่พระเอกพบอุปสวรรคมากๆ
ดังนั้น มันไม่ควรเก่งเกินไปจนข้ามหน้าข้ามตา หรือเด่นเกินไปจนกลบพระเอกมิด และไม่ควรเกรงใจผู้ที่ลงตัวละครนั้นมา
ในเมื่อเราไม่ได้เลือกตัวละครนี้เป็นตัวละครนำ บางครั้งก็ต้องตัดออกจากเรื่องไปบ้าง เช่น การตาย การพ่ายแพ้ เป็นต้น
-การวางบทตัวร้าย ข้อนี้ไม่ยากเย็นนัก เพราะขึ้นชื่อว่าตัวร้ายก็ต้องเก่งเป็นธรรมดา มันจะเก่งเว่อร์แค่ไหนก็คงไม่มีใครตั้งข้อหาให้มัน
เว้นเสียแต่ ตัวร้ายที่ไม่สามารถสร้างปัญหาอะไรให้พระเอกได้เลย เพราะพระเอกของเรานั้นโคตรเทพเมพขริมๆ ก็อย่าเป็นตัวร้ายเลย
หรือ ตัวร้ายที่มันโคตรเทพเมพขริมๆ และอีกทั้งยังมีบทบาทเด่นกว่าพระเอกอีกด้วย แบบนี้ คนอ่านจะเกิดข้อสงสัย ใครคือพระเอกกันแน่
5. ความขยันในการเขียน
สิ่งนี้ถือว่าสำคัญที่สุด เพราะผู้เขียนส่วนมากวาง Plot แล้ว แต่เขียนไม่จบ เพราะกำลังใจในการเขียนมอดดับไปเสียก่อน
สาเหตุเกิดจากความไม่ขยัน เมื่อเกิดการทิ้งร้างไม่เขียนต่อเนื่อง ก็จะผลัดวันประกันพรุ่ง บางครั้งนานจนจำเนื้อเรื่องตอนเดิมไม่ได้
ทุกครั้งที่จะเขียนตอนใหม่ต้องไปนั่งเช็คตอนเก่าเสมอว่าเขียนไปถึงไหน เขียนข้อมูลอะไรไปบ้างแล้ว จนเกิดความเบื่อหน่าย
ดังนั้น ความขยันต้องสัมพันกับการวาง Plot สรุปสั้นๆ Plot ไม่ควรยิ่งใหญ่เป็นมหากาฟ และควรเขียนอย่างต่อเนื่อง
6. หัดมองในมุมของผู้อ่าน
แน่นอนว่าผู้เขียนส่วนมากจะลืมคิดถึงมุมมองของผู้อ่าน ผู้เขียนบางคนเขียนเนื้อเรื่องโดยเข้าใจอยู่คนเดียว
โดยลืมนึกถึงว่าผู้อ่านไม่ใช่คนที่กุม Plot เอาไว้ในมือ เขาไม่ได้เข้าใจเนื้อเรื่องเหมือนเราที่เป็นผู้เขียน
การเล่าเรื่องเหตุการณ์ควรจะอธิบายให้เข้าใจง่าย ไม่ลึกลับซับซ้อน หรือเขียนวนไปมาจนงงหาทางออกไม่เจอ
การอธิบาย หากเราต้องการให้ผู้อ่านเหตุภาพตาม ก็ควรอธิบายสิ่งที่เราเห็นในหัวออกมาให้ชัดเจนโดยละเอียด
หลังจากเขียนจบแล้ว ให้ลองกลับมาอ่านดูอีกครั้ง และให้นึกว่าเราไม่รู้เหตุการณ์ใน Plot ที่จะเกิดต่อไปเลย
และเนื้อหาในตอนนั้นที่เราเขียนบอกอะไรเราบ้างตอนเราอ่าน มันสามารถทำให้คนที่อ่านสนใจเนื้อเรื่องต่อไปของเราไหม
7. ข้อควรระวังในการเขียน
- ไม่ควรมีแต่เนื้อเรื่องแบบเดิมซ้ำๆ กันทุกตอน เช่น นิยายสงคราม เปิดฉากยิงกันลูกเดียว โดยไม่มีเนื้อหาอะไรที่ได้มาเลย
คนอ่านจะสนุกในช่วงแรกๆ แต่เมือผ่านไปราว 4 ตอน ยังมีแต่ฉากยิงกัน ถ้าคุณเป็นคนอ่านคุณจะเดาได้ไหมว่าตอนต่อไปเป็นอย่างไร
- ควรเน้นเนื้อหาของเรื่อง มากกว่าฉากการต่อสู้ หรือฉากที่ผู้เขียนชอบ เพราะคนอ่านจะไม่ได้อะไรเลย พึงนึกเสมอว่าส่วนสำคัญที่สุด
ของนิยายคือเนื้อเรื่อง ไม่ใช่การกระทำของตัวละคร บางคนจินตนาการไว้แต่ฉากที่ตัวเองคิดว่าเท่ดี แต่เนื้อเรื่องมีแต่ไร้สาระ นิยายก็น่าเบื่อ
- ไม่ควรอมความลับไว้เยอะเกินไป เพราะจะทำให้คนอ่านงง หากมีปมความลับเยอะ ก็ควรบอกใบ้คนอ่านไปเรื่อยๆ เป็นระยะๆ
การบอกใบ้ต้องเขียนให้ชัดเจนว่าสิ่งนั้นคือคำใบ้ คำใบ้ต้องสื่อความหมายได้ ไม่ใช่อ่านไปก็ยังไม่เข้าใจว่าใบ้อะไรหรอ
ปมบางปม เป็นสิ่งที่ไม่สำคัญของเรื่อง ถึงแม้ผู้เขียนชอบ ก็ควรตัดปมเหล่านั้นทิ้งไป เพราะจะเกิดคำถามที่ว่า ใส่ไว้เพื่ออะไร
- ไม่ควรอวยตัวละครไหนเป็นพิเศษจนกลบรัศมีตัวเอกมิด และไม่ควรเดินเรื่องชนิดพระเอกไร้พ่าย ไม่เคยเสียท่าให้ใคร
ถ้าคุณเป็นคนอ่าน แล้วตัวละครของผู้เขียนเองโชว์เทพตบตัวละครอื่นหัวทิ่มชนิดหยามกันสุดๆ คุณไม่รู้สึกอะไรเลยหรือ
- หลีกเลี่ยงการเล่นมุกที่เข้าใจยาก เพราะผู้อ่านบางคนมีพื้นฐานไม่เหมือนกัน ทำให้การเล่นมุกที่เข้าใจยากไม่สากล จะเกิดความล้มเหลว
อย่างเช่น Admin Senjumaru เป็นเด็กสาวใสๆ ไม่ค่อยเข้าใจมุกเสียเท่าใดนัก พี่ๆ กรุณาอย่าทำร้ายหนูนะคะ